ถ้าออกแบบโปสเตอร์ป้ายอิงค์เจ็ทไม่ดี ผู้ชมก็จะขาดความสนใจความรู้ที่นักวิจัยพยายามเสนอ ตรงกันข้าม ถ้าออกแบบโปสเตอร์ได้ดี สะดุดตาผู้ชม ผู้ชมก็จะเข้ามาติดตามอ่านจนเห็นความสำคัญของงานที่เสนอได้ ในการออกแบบนี้ นอกจากจะต้องออกแบบให้ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมแล้ว ยังต้องออกแบบให้สะดวกต่อการขนส่งด้วย (นำติดตัว)
เพื่อให้โปสเตอร์อ่านได้ง่าย ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ
- ใช้ตัวหนังสือที่สามารถอ่านได้ในระยะ 3-4 ฟุต และควรเป็นตัวอักษรที่อ่านได้ง่าย ถ้าใช้ตัวหนังสือเล็กไปจะทำให้ผู้ชมเพียงแต่มองผ่านไปโดยไม่คิดจะหยุดอ่าน/ให้ความสนใจ เมื่อใช้ภาษาอังกฤษ เนื้อความภายในไม่ควรใช้อักษรตัวใหญ่ทุกตัวเพราะอ่านยาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตัวหนังสือ/ตัวเลขที่เขียนไว้ข้างบน (Superscript) หรือเขียนไว้ข้างล่าง (subscript) เพราะอ่านยากเช่นกัน
- ถ้าพื้นเป็นสีอ่อน การใช้ตัวหนังสือสีเข้มช่วยให้เห็นได้ดี ควรหลีกเลี่ยงตัวหนังสือสีเข้มบนพื้นสีเข้ม ถ้าจะใช้พื้นสีเข้ม ควรใช้ตัวหนังสือสีอ่อน ในโปสเตอร์ 1 แผ่น ไม่ควรมีสีที่ตัดกันเกินกว่า 3 สี ไม่ควรใช้สีที่ส่องแสงเรือง ยิ่งกว่านั้นการใช้สียังช่วยแยกความแตกต่างของแต่ละเรื่อง และเน้นความสำคัญได้ดีด้วย การใช้ผ้าสีสวย ๆ ตกแต่งเป็นพื้น หรือตกแต่งรอบ ๆ ฉากที่ใช้ติดโปสเตอร์ ช่วยเพิ่มความงามและดึงดูดสายตาได้ดี
- เนื้อความในโปสเตอร์ควรสรุปให้สั้นและตรงประเด็น มิฉะนั้นผู้ชมอาจหมดความสนใจได้ง่าย
- การย่อหน้าส่งเสริมการอ่านได้มากกว่าการนำเสนอแบบท่อน/ตอน (blocked paragraphs) ถ้าทำเป็นหัวข้อย่อยได้จะสะดวกต่อผู้อ่าน
- ภายในกราฟควรมีเฉพาะข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มบุคคลที่เข้าชม และจะดึงดูดความสนใจได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเป็นกราฟสี (ดีกว่าดำ-ขาว) เพราะเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่า หัวข้อกราฟและการติดฉลาก (label) ด้วยอักษรทึบจะเด่นดีกว่า มีรายงานว่าการใช้กราฟและรูปเป็นสิ่งจูงใจผู้ชมได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง รูปหนึ่งรูป มีค่าเทียบเท่าประมาณ 4000 คำ
- การเรียงโปสเตอร์ก็สำคัญเช่นกัน ควรเรียงเป็นลำดับ อาจใส่ตัวเลขเล็ก ๆ แสดงลำดับไว้ด้วยก็ดี
- ควรติดโปสเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา อย่าให้สูงหรือต่ำเกินไป